OpenAI บริษัทผู้สร้าง ChatGPT อาจขายหุ้นบริษัท และทำไมต้องเปลี่ยนโมเดล “โอเพ่นซอร์ซ” ไปเป็น “หวังกำไร” ?

 

OpenAI บริษัทผู้สร้าง ChatGPT อาจขายหุ้นบริษัท

ทำไมต้องเปลี่ยนโมเดล “โอเพ่นซอร์ซ” ไปเป็น “หวังกำไร” ?

ภาพที่ 1 เครดิตภาพจาก https://www.soocial.com/how-does-openai-make-money/

อ้างอิงข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 6 มกราคมตามในเวลาประเทศไทยว่า OpenAI บริษัทและห้องปฏิบัติการวิจัยปัญญาประดิษฐ์ที่อยู่เบื้องหลังแชทบอท ChatGPT กำลังเจรจาขายหุ้นให้กับบริษัทต่างๆ โดยเบื้องต้นประเมินมูลค่าบริษัทนี้ไว้ที่ 29 พันล้านดอลลาร์

สำหรับ 2 บริษัทแรกที่สนใจซื้อหุ้นจากบริษัท OpenAI ได้แก่ Thrive Capital และ Founders Fund ซึ่งสนใจที่จะซื้อหุ้นจาก “ผู้ถือหุ้นเดิม และพนักงาน”

แต่ผู้ซื้อตัวจริง..อาจไม่ใช่ Thrive Capital และ Founders Fund อาจจะเป็นใครสักคนหนึ่งที่กระเป๋าหนัก และวนเวียนอยู่รอบๆ OpenAI มาระยะหนึ่งแล้ว บริษัทนั้นน่าจะเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีศักยภาพ มีบิสิเนสโมเดลที่จะแปลงสินทรัพย์ AI เหล่านี้ ให้กลายไปเป็นแหล่งรายได้และเงินทุนอุดหนุน OpenAI ที่ยาวนานและมหาศาลมากกว่ากองทุน “สับขาหลอก” เหล่านี้้ ก็เป็นได้ !

อนึ่ง บริษัท OpenAI ก่อตั้งในปี 2015 โดย Sam Altman และ Elon Musk เดิมเป็นบริษัทที่ไม่หวังผลกำไร แต่เปลี่ยนนโยบายในปี 2019 ไปเป็นบริษัทที่ “หวังผลกำไรแบบจำกัด” (capped-profit organization) เพื่อแก้ปัญหาเงินทุนไม่พอจน ต้องระดมทุนระดับพันล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว 3 รอบ โดยรอบล่าสุด ไมโครซอฟท์ให้เงินสนับสนุนไป 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ แลกกับสิทธิ์การเข้าถึงซอร์ซโค้ด GPT-3 ได้ เพื่อนำไปพัฒนา WebGPT เพื่อทำเสิร์ชเอ็นจิน Bing และระบบคลาวด์ Azure ของไมโครซอฟท์

และนั่นคือเหตุผลที่ซีอีโอกูเกิ้ล ต้องรีบส่งสัญญาณฉุกเฉิน “ไฟแดง” เตือนพนักงานกูเกิ้ลทั้งบริษัท …เพราะนี่คือภัยคุกคามธุรกิจเสิร์ชเอ็นจินของ Google ที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ซึ่งอาจทำลายล้าง “รายได้โฆษณา” มูลค่าประมาณ 150 พันล้านดอลลาร์ต่อปี คิดเป็นรายได้เกือบ 60% ของบริษัทกูเกิ้ล

หากรายได้เกือบ 60% ก้อนนี้สูญหายไปให้กับ Bing ของไมโครซอฟท์ ก็…อาจหมายถึง “การพังพินาศและจุดจบ” ของกูเกิ้ลก็เป็นได้

รายได้ของกูเกิ้ลในปี 2021, เฉพาะจาก Google Search และบริการที่เกี่ยวข้องกับการค้นหา มีรายได้เกือบ 150 พันล้านดอลลาร์ (เครดิตและอ้างอิงจาก https://www.oberlo.com/statistics/how-does-google-make-money)

แชทบอทของ OpenAI เป็นซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันที่ออกแบบมาเพื่อเลียนแบบการสนทนาที่เหมือนมนุษย์ตามคำแนะนำของผู้ใช้ และสามารถตอบคำถามได้หลากหลายในขณะที่เลียนแบบลักษณะการพูดของมนุษย์ โดยใช้กลไกโมเดลภาษาที่ชื่อว่า GPT-3.5 หรือเวอร์ชัน 3.5

โมเดลภาษาของ OpenAI ที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงอย่างมาก เริ่มต้นตั้งแต่เวอร์ชัน 2 หรือ GPT-2 ซึ่งยังคงเป็น open-source หรือเปิดให้ดูให้ใช้ซอร์ซโค้ดได้ฟรี ส่วน GPT-3 และแอปพลิเคชันหลังยุค GPT-2 ไม่ได้เป็น open-source แล้ว แต่จะใช้โมเดลเปิดให้ใช้งานฟรีระยะแรก จากนั้นค่อยเก็บเงิน (โมเดลธุรกิจ freemium)

ข้อตกลงขายหุ้น OpenAI ดังกล่าว อาจจะดึงดูดเงินลงทุนได้ 300 ล้านดอลลาร์ในการขายหุ้นบางส่วนออกไป ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อพนักงานบริษัท รวมทั้งนาย Sam Altman กับ Elon Musk ผู้ร่วมก่อตั้ง อนึ่ง อีลอน มัสก์ ได้ลาออกจากคณะกรรมการบริษัทนี้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2018 แต่ออฟฟิศของ OpenAI ยังแชร์ใช้บางส่วนของสำนักงาน Tesla อยู่

ข้อสังเกตส่วนตัว ผมเห็นแย้งไม่คล้อยตามข่าว ในเรื่องตัวเลข 300 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขน่าจะได้มากกว่านี้หลายเท่า เพื่อเพียงพอสำหรับเป็นเงินทุนพัฒนา GPT-4 และโปรเจกต์ AI ในอนาคต และเพื่อเป็นถุงขวัญกำลังใจแก่พนักงาน รวมทั้งนายแซม อัลท์แมน และอีลอน มัสก์ ซึ่งตัวเลขแค่ 300 ล้าน ไม่น่าจะพอแบ่ง และไม่พอสำหรับงานวิจัยในอนาคต

สำหรับมูลค่าบริษัท OpenAI ณ ขณะนี้ (ประเมินไว้เพื่อเตรียมซื้อขายหุ้นบริษัท) ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 29 พันล้านดอลลาร์ โดยคิดจากฐานรายได้จากค่าเช่าใช้ซอฟต์แวร์ AI ค่าลิขสิทธิ์ และค่าเช่าใช้ประดิษฐกรรมต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ และ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567 (อ้างอิง ข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อเดือนที่แล้ว, ธันวาคม 2565)

ภาพที่ 2 เครดิตภาพ —Mandar Karhade https://pub.towardsai.net/what-is-gpt-4-and-when-9f5073f25a6d

GPT-3 เผางบไปแล้วเท่าไร ?

ทำไมต้องเปลี่ยนโมเดล “โอเพ่นซอร์ซ” ไปเป็น “หวังกำไร” ?

GPT-3 เป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่สุด ดีที่สุดของวงการ AI แต่ก็ใช้งบลงทุนมากที่สุดด้วยเช่นกัน โดยโมเดลภาษานี้ประกอบด้วย 175 พันล้านพารามิเตอร์ ใช้หน่วยความจำ 700GB (แต่ละพารามิเตอร์ต้องการ 4 ไบต์) ใช้ค่าฝึกหรือเทรนโมเดลในปีแรกกว่า 4.6 ล้านดอลลาร์ โดยใช้ซีพียูเสมือนหรืออินสแตนซ์ระบบคลาวด์ของ Tesla V100 จำนวนมหาศาล ใช้เวลาในการฝึกเทรนโมเดลกว่า 9 วัน ขณะที่ GPT-4 หรือเวอร์ชัน 4 คาดว่าจะมีขนาดโมเดลภาษาที่ใหญ่กว่า GPT-3 กว่า 600 เท่า หรือประมาณ 100 ล้านล้านพารามิเตอร์ ขนาด..ใหญ่โตมากจนสร้างความกังวลให้กับบริษัทสูงสุด เพราะงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับการเทรนโมเดลเวอร์ชันใหม่นี้

หากอ้างอิงผลการศึกษาของ AI21 Labs ในปี 2020 กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาโมเดลภาษาเพื่อสร้างข้อความด้วยพารามิเตอร์เพียง 1.5 พันล้านพารามิเตอร์ จะใช้เงินลงทุนมากถึง 1.6 ล้านดอลลาร์ ดังนั้นหากอ้างตัวเลขดังกล่าว GPT-3 อาจมีค่าใช้จ่ายตลอดงานวิจัยไปแล้วกว่า 186 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ GPT-4 อาจจะใช้เงินมากกว่านี้ 600 เท่า

ภาพที่ 3 เครดิตภาพ — ยูทูบของ @ReneSellmann https://www.youtube.com/watch?v=HnY8ionyRSs

อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากบล็อกของนายแพทย์ Mandar Karhade ซึ่งอ้างว่าเพื่อนของเขาที่ทำงานในบริษัท OpenAI ซึ่งเคยเล่าให้ฟังไว้ว่า งบวิจัย GPT ตัวใหม่ๆ จะใช้งบประมาณน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะสามารถใช้ทรัพยากรเก่า ข้อมูลเดิมที่ติดป้ายกำกับไว้แล้ว องค์ความรู้เดิม ฯลฯ มาต่อยอดงานวิจัยใหม่ได้ด้วย ทำให้ประหยัดต้นทุนการงานวิจัยไปได้มากขึ้น (ดังภาพที่ 2 อ้างอิง https://pub.towardsai.net/what-is-gpt-4-and-when-9f5073f25a6d)

ยิ่งพัฒนา ยิ่งใช้งบน้อยลง (economies of scale)…สิ่งนี้ จะทำให้บริษัทน้อยใหญ่ที่คิดจะพัฒนา AI ด้วยตนเอง เพื่อหวังว่าจะไล่ตามทัน OpenAI หรือ Google …อาจต้องคิดหนัก

และนั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญ ..ทำไมไมโครซอฟท์ ยอมจ่ายสปอนเซอร์ 1 พันล้านดอลลาร์ให้ OpenAI เพื่อแลกกับสิทธิ์การใช้โค้ดของ GPT-3 ก็เป็นได้ !

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สรุปหนังสือ AI and Machine Learning for Coders แต่งโดย “หัวหน้าทีมวิจัย AI” ของ Google และหนึ่งในผู้คิดค้น TensorFlow

กูเกิ้ล ลดพนักงาน 1.2 หมื่น แล้วดึงผู้ก่อตั้ง 2 คนกลับมาฉุกเฉิน เพื่อต่อกรกับ ChatGPT จากไมโครซอฟท์-โอเพ่นเอไอ

เคราะห์กระหน่ำ กูเกิ้ลถูกฟ้องผูกขาดโฆษณาอีก นอกจากสงครามเสิร์ชเอ็นจิ้นด้วย AI แล้ว ล่าสุดยังถูกฟ้องจากก.ยุติธรรมสหรัฐฯ