เบื้องหลัง “สงครามชิป AI จีน-อเมริกา” กับ อาวุธยุคที่ 3 ?

 

เบื้องหลัง “สงครามชิป AI จีน-อเมริกา” กับ อาวุธยุคที่ 3 ?

โดรนจิ๋วสังหาร — แค่กระสุนน้ำหนัก 5 กรัม ! ก็ปลิดชีวิตเป้าหมายได้

 

อาวุธยุคที่ 3 คืออะไร ? หากใครได้อ่านหนังสือ AI 2041 ที่แต่งโดย หลี่ไคฟู (Lee Kai-fu, 李開復) ผู้แต่งชื่อดังจากหนังสือขายดี AI Superpowers แต่งร่วมกับ เฉินชิวฟาน (Chen Qiufan, 陳楸帆) นักประพันธ์แนวนวนิยายวิทยาศาสตร์ ก็จะเห็นภาพนี้ในท้ายบทที่ 7 เรื่อง Quantum Genocide

เทคโนโลยีและอาวุธสงครามที่เปลี่ยนศาสนาและการเมืองโลก “ยุคแรก” คือ ดินปืน คิดค้นโดยจีน แต่ยุโรปนำไปต่อยอดพัฒนา บวกกับเครื่องจักรไอน้ำและเรือเหล็กลอยน้ำได้..ข้ามทะเลได้ ทำให้กลับมายึดจีน..ต้นตำรับดินปืนได้บางจังหวัด และยึดชาติเอเชียเกือบทั้งหมด ให้กลายเป็นเมืองขึ้น

อาวุธยุคที่ 2 ก็คือ อาวุธนิวเคลียร์ ที่ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้และสิโรราบเป็นลูกน้องอเมริกามาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยอานุภาพระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งเชื่อกันว่า เมื่อรบกันแล้ว จะไม่มีใครชนะ ตายร่วมกันหมด (ทฤษฎี MAD : Mutually Assured Destruction) ทำให้โลกเกิดสันติสุข ปลอดสงครามโลกมานานกว่า 77 ปี..ตราบจนถึงทุกวันนี้

ลีไคฟู ซึ่งเคยเป็นผู้บริหาร Google China ด้วย เขาเข้าใจธรรมชาติและวิวัฒนาการของ AI ว่าจะไปในทางใด จึงได้เขียนฉากทัศน์ของ AI ในอีก 20 ปีข้างหน้าว่าจะเกิดสิ่งใดได้บ้าง และบางสิ่งก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่จำกัดแค่ “วงใน” สิ่งนั้นคือ “อาวุธยุคที่ 3” หรือ Autonomous Weapons

“อาวุธสังหารอิสระ” นี้ขับเคลื่อนด้วย AI ตัดสินใจโดย AI ว่าจะฆ่าหรือปล่อย ใช้อัลกอริทึมที่คนโปรแกรมไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อปล่อยให้ปฏิบัติการแล้ว คนเข้าไปควบคุมไม่ได้ มันจะทำงานเลือกสรรตามอิสระ

อาวุธชนิดนี้ หลักๆ จะมีอยู่ 2 ประเภท ซึ่งรัฐบาลอเมริกาและอิสราเอลกลัวเกรงอย่างมาก เพราะตนเองเป็นผู้ริเริ่มใช้งาน แล้วได้ผลดีเกินคาด (และไม่ต้องการให้ “ผู้อื่น” มี) ชนิดแรกคือ โดรนสังหารเดี่ยวขนาดใหญ่และกลาง (Killer Drones ใช้ในสงครามอัฟกานิสถานและอิรักมาตั้งแต่ปี 2012 และ Kamikaze Drones ใช้ในสงครามยูเครน, เยเมน-ซาอุดิอาระเบีย, อิสราเอล-ฉนวนกาซา) และหุ่นยนต์สังหาร (Ground Robots) ใช้ในประเทศซีเรียและมาลี ซึ่งทั้งอเมริกาและรัสเซียลองทดสอบกันไปบ้างแล้วในปี 2019 แต่ยังเป็นหุ่นยนต์ชนิดตีนตะขาบ ไม่ได้มี 4 เท้า หรือ 2 เท้าเหมือนหุ่นยนต์ของ Boston Dynamics

 

กลไกหลักของฝูงโดรนจิ๋วสังหาร เครดิต “Autonomous Weapons”, BBC, 15 December 2021, https://www.youtube.com/watch?v=xo4kFivp1i0

 

Autonomous Weapon จะทำให้อาวุธนิวเคลียร์ กลายเป็นของล้าสมัย เพราะ “สังหารอิสระ” ได้มีประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุนหลายหมื่นเท่า ไม่สิ้นเปลืองชีวิตทหารและพลเรือนจากการหว่านแห่และผลข้างเคียงต่อเนื่องหลายปีของระเบิดนิวเคลียร์ ที่สำคัญ กำหนดเป้าหมายได้ ซ่อนเร้นได้ดี ป้องกันได้ยาก (ยากยิ่งกว่าการป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์และการโจมตีทางไซเบอร์) หากใช้เป็นเครื่องมือสังหารผู้นำหรือฝ่ายที่มีความเห็นตรงกันข้าม ก็จะสามารถทำงานได้สะดวก ง่าย เงียบ ล่องหน อำพราง และทำลายตัวเองได้เมื่อเสร็จภารกิจ

ต้นทุนการเปลี่ยนแปลงประเทศหรือยึดประเทศ จะลดลงไปหลายหมื่นเท่า ไม่ต้องใช้รถถัง ปืนใหญ่ เครื่องบินรบ ฯลฯ สิ้นเปลืองแบบเดิม โดยอาวุธสังหารล่าสุดที่อเมริกากลัวว่าจีนจะมีมากที่สุดก็คือ “ฝูงโดรนจิ๋วสังหาร” (Mini Military Drone Swarms) ซึ่งมีกลไกสำคัญที่สุดคือ AI และชิปไฮเทค

 

งานแสดงแสงสีที่กวางตุ้ง ประเทศจีน ทำลายสถิติโลกการใช้โดรน 3,051 ตัวแปรรูปบนท้องฟ้า — เครดิต กินเนสส์เวิล์ดเรคอร์ดส์ https://www.guinnessworldrecords.com/news/commercial/2020/10/3051-drones-create-spectacular-record-breaking-light-show-in-china

 

อเมริกามองว่า ชาติที่พร้อมจะต่อกรกับอเมริกาและอิสราเอลได้ดีที่สุด คือ จีน เพราะจีนมีวิศวกรที่เก่งด้าน AI จำนวนมาก มีสิทธิบัตรเรื่อง AI จำนวนมาก และมีงบลงทุนในเรื่องนี้สูงกว่าอเมริกา

จีนได้สาธิตโดรนจิ๋วที่บินพาดโผน หลบกอไผ่ได้อย่างรวดเร็วเมื่อต้นปี 65 ที่ผ่านมา มีน้ำหนักเบา แบตฯ ดีบินได้ไกล ล่องหนราวกับฝูงผึ้ง ซึ่งเรดาร์ตรวจจับไม่ได้ ที่สำคัญ ราคาต้นทุนต่อตัวถูกมาก ต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ แม้ผลิตเป็นแสนตัว ราคาก็อาจจะถูกกว่าเครื่องบิน F35 แค่ลำเดียว ทำให้อเมริกาอึ้งและคิดว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน, เครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหน B-21, หรือกระทั่งหุ่นยนต์สังหารภาคพื้นดินชนิด 4 ขา ก็อาจเคลื่อนตัวช้าเกินไป..ที่จะต่อกรกับฝูงผึ้งมรณะนับแสนเหล่านี้

ยุทธวิธีการรบแบบดั้งเดิมสมัยสงครามโลกครัังที่ 2 (และสงครามยูเครนระยะแรก) ที่เน้นการรุกคืบยึดพื้นที่ด้วยทหารราบ รถถังและเครื่องบินรบ หรือ ยุทธวิธีการรบแบบรีโมทสมัยสงครามอิรัก โดยการใช้จรวดนำวิถีชี้เป้าด้วยเลเซอร์และสัญญาณดาวเทียมเน้นทำลายสนามบิน โครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์บัญชาการ และหน่วยรบจนราบคาบก่อน แล้วจึงค่อยใช้ทหารราบและรถถังบุกยึดพื้นที่ในภายหลังนั้น จะกลายเป็นเรื่องไม่มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนสูง เมื่อเทียบกับยุทธวิธีจู่โจมเร็ว เงียบ และทำลายล้างแบบ กำหนดเป้าหมายได้..กับบุคคลที่มีหน้าตา หรือชุดแต่งกายเป็นผู้นำ ผู้สั่งการ หรือผู้ใส่ชุดทหาร โดยใช้ฝูงโดรนจิ๋วสังหารนับหมื่นตัว บุกในระยะแรก ตามด้วยโดรนสังหารกามิกาเซ่ เพื่อทำลายอาวุธและโครงสร้างพื้นฐานการรบ จากนั้นใช้ “กราวด์โรบอท” หุ่นยนต์ 4 ขาสังหารอิสระ บุกเคลียร์พื้นที่และทหารส่วนที่เหลือ พร้อมทั้งส่งข้อมูลและภาพสถานที่ที่เตรียมบุกยึด เพื่อวางแผนบุกยึดโดยทหารจริงในขั้นตอนสุดท้าย

 

โดรนล่องหนความเร็วเหนือเสียงรุ่นแรกๆ ภาพเก่าเมื่อปี 2019 เครดิต —CNN https://edition.cnn.com/asia/live-news/china-hong-kong-oct-1-live-intl-hnk/h_1ba984e1cf9a99769648fe35eb06cec5

 

เอริก ชมิดต์ (Eric Schmidt) อดีตผู้บริหารของแอปเปิ้ลและกูเกิ้ล ซึ่งริเริ่มโครงการ SCSP (Special Competitive Studies Project เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้อเมริกาในเรื่อง AI และเทคโนโลยีเกิดใหม่อื่นๆ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงของอเมริกา) เขากล่าวไว้ในวิดีโอสั้น ช่องยูทูปของหนังสือพิมพ์บลูเบิร์ก “…จีนกำหนดแผนว่าจะเป็นผู้นำด้าน AI ให้ได้ภายในปี 2030 จีนมีวิศวกรด้าน AI มากกว่าอเมริกา 4 เท่า และมีงบประมาณมหาศาลในเรื่องนี้ …เราต้องดึงวิศวกรด้านนี้กลับมาที่ประเทศ(อเมริกา) เพื่อช่วยเหลือทั้งด้านกลาโหมและธุรกิจ…”

 

เครดิต — ภาพจาก “China’s Race for AI Supremacy”, Bloomberg Quicktake, 20 October 2021, https://www.youtube.com/watch?v=zbzcZr_Nadc

 

อเมริกาเชื่อว่า ระเบียบโลกและวิถีความเชื่อของตน เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับความผาสุขของชาวโลก อเมริกาเลี่ยงไม่ได้ จำต้องเป็น “มหาอำนาจโลก” เพื่อทุกคน

คำถามก็คือ อะไรที่เป็นปัจจัยความสำเร็จของการเป็น “มหาอำนาจโลก” (Hegemony) เมื่อถามเรื่องนี้กับ AI แชทบอทระดับโลก..ChatGPI สรุปไว้ว่า การเป็นมหาอำนาจโลกได้นั้น มี 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

(1) อำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งมักมาจากเทคโนโลยีและการควบคุมทรัพยากร

(2) อำนาจทางการทหาร เพื่อชี้นิ้วสั่งการ บังคับด้วยกำลังได้

(3) อิทธิพลกลุ่มและเครือข่ายพันธมิตร ซึ่งเมื่อรวมพลังแล้ว โหวตเสียงหรือสร้างอำนาจต่อรองบนเวทีการเมืองโลกได้ และ

(4) ชัยภูมิที่ตั้งของประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่า อเมริกาอยู่ในชัยภูมิที่สะดวกในเชิงรุก จะข้ามแปซิฟิกมาญี่ปุ่น จีน หรือไต้หวันก็ง่าย จะข้ามแอตแลนติก ไปยุโรปหรือแอฟริกาก็สะดวก ขณะที่ จีน อินเดีย และรัสเซีย ชัยภูมิเหมาะในเชิงรับ เพราะถูกห้อมรอบด้วยแผ่นดินกับเทือกเขามากกว่าทะเล เหมาะเป็นเกราะป้องกันตัวมากกว่า

ข้อสังเกต ปัจจัยการเป็นมหาอำนาจโลกนั้น …จีน ได้บรรลุไปแล้วระดับหนึ่ง สมควรเป็นผู้ท้าชิงที่อเมริกา(และยุโรป) ไม่ไว้วางใจ

แม้ทวีปอเมริกาจะอยู่ไกล เสมือนเป็นเกาะขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยทะเล แต่..ด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด หรือจรวดข้ามทวีปเหนือเสียงหลายเท่าของจีนและรัสเซีย ซึ่งสามารถดัดแปลงให้เป็นเครื่องปล่อยฝูงโดรนจิ๋วสังหารได้ง่าย ปล่อยได้ทีละหลายๆ แสนตัว สามารถลดประชากรของเมืองหนึ่งๆ ได้ทีละครึ่งอย่างง่ายๆ โดยการกำหนดพิกัด โปรไฟล์ยูสเซอร์ เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัว ฯลฯ โดรนแต่ละตัว ไม่จำเป็นต้องขนระเบิดขนาดใหญ่ แค่ใช้กล้องจับภาพ, ชิป AI, อุปกรณ์สื่อสารระหว่างกัน และกระสุนปืนขนาดเล็กน้ำหนักไม่เกิน 5 กรัม ก็สามารถยิงทะลุสมองเพื่อปลิดชีวิตเป้าหมายได้ (น้ำหนักกระสุน 9 มม. ประมาณ 7.5–9.5 กรัม) ล้ำไปกว่านั้น สามารถกำหนดให้โดรนทำงานเป็นทีมเวิร์ก แบ่งงานกันทำ แต่ละตัวสามารถสื่อสารพูดคุยระหว่างกัน เพื่อแบ็คอัพและสนับสนุนการจู่โจมซึ่งกันและกัน

อเมริกาและอิสราเอลรู้ดีกว่า ฉากทัศน์เรื่องนี้เป็นไปได้ และเป็นไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่อเมริกา ยังไม่กล้าคิดหรือประเมินผลกระทบต่อ ก็คือ…

อุปกรณ์สังหารอิสระนี้ ผลิตเองได้ง่าย พลเรือนทั่วไปก็สามารถหาชิ้นส่วนอุปกรณ์และผลิตได้เอง โดยไม่ต้องใช้ AI ที่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้ชิปหรือแบตฯ คุณภาพสูง และ…ไม่ต้องใช้งบกลาโหมมหาศาล แบบอเมริกาหรือจีน

ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายในประเทศต่างๆ เริ่มใช้กันบ้างแล้ว เช่น การใช้โดรนสังหารประธานาธิบดีมาดูโรของเวเนซุเอลาเมื่อปี 2018 ซึ่งโชคดี รอดชีวิตได้อย่างหวุดหวิด

ต้นทุนของโดรนจิ๋วสังหาร จะถูกลงเรื่อยๆ แบตเตอรี่ และ AI จะช่วยให้มันทำงานได้นาน ได้ไกล และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่..อุปกรณ์ป้องกันตัวเองของพลเรือนและรัฐบาล ยังตามหลังและไม่รู้ว่าจะเท่าทันวิวัฒนาการเรื่องนี้เมื่อไร การแบนสินค้า ชิป หรือเทคโนโลยี AI เฉพาะกับรายใหญ่ อย่างจีน อาจจะเป็นการชะลอ..เรื่องนี้ ได้สักพัก แต่สุดท้าย ไม่นานเกิน 2 ปี จีนก็ทำเองได้หมด.. ซ้ำยังจะเป็นแรงเสริม ผลักดันให้จีนเร่งผลิต และเพิ่มจำนวนมากขึ้นไปอีก

อีกสิ่งหนึ่งที่อเมริกา ไม่กล้าคิดและไม่จำลองฉากทัศน์ไว้ก็คือ “สนิมเนื้อใน” น่ากลัวกว่าศัตรูภายนอกมากนัก

อเมริกันน่าจะจำได้..การบุกสภาคองเกรสด้วยพลเมืองของตน เป็นฉากทัศน์ที่สะดุ้งเตือนได้ดี และครั้งหน้า อาจจะเป็นการบุก..ด้วยโดรนจิ๋ว จากพวกเดียวกันเอง..แค่คิดต่างอุดมการณ์ไม่เหมือนกัน ..ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้

 

หนังสั้น ที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงบางส่วนและสมมติฐานที่เป็นไปได้ในอนาคต เครดิต : @watchdust https://www.youtube.com/watch?v=O-2tpwW0kmU

 

*********

ติดตามบทความ AI.Neuro.Pal ได้ที่

Facebook: www.facebook.com/ai.neuro.pal

Twitter: https://twitter.com/AiNuero

Blogger: https://aineuro9.blogspot.com

Medium: https://medium.com/@AiNeuroPal

 

อ้างอิง

- “Autonomous Weapons”, BBC, 15 December 2021, https://www.youtube.com/watch?v=xo4kFivp1i0

- “Venezuela President Maduro survives drone assassination attempt”, BBC, 5 August 2018, https://www.bbc.com/news/world-latin-america-45073385

- “Humanitarian Benefits of Emerging Technologies In The Area of Lethal Autonomous Weapon Systems — Submitted By The United States Of America”, UN, 3 April 2018, https://documents.un.org/prod/ods.nsf/xpSearchResultsM.xsp

- Kai-Fu Lee / Chen Qiufan, AI 2041: Ten Visions For Our Future”, First Edition (September 14, 2021), Currency Publication, New York.
“What are lethal autonomous weapons?”, The Future of Life Institute, https://autonomousweapons.org/
“The Third Revolution in Warfare”, The Atlantic, 11 September 2021, https://www.theatlantic.com/technology/archive/2021/09/i-weapons-are-third-revolution-warfare/620013/
“A swarm of mini drones makes … magic!”, TED Talks, TEDSummit 2019, https://www.ted.com/talks/marco_tempest_a_swarm_of_mini_drones_makes_magic

- “Autonomous drones fly through Chinese bamboo forest”, South China Morning Post, 6 May 2022, https://www.youtube.com/watch?v=rPul9WKQ6oQ
“China’s Race for AI Supremacy”, Bloomberg Quicktake, 20 October 2021, https://www.youtube.com/watch?v=zbzcZr_Nadc


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สรุปหนังสือ AI and Machine Learning for Coders แต่งโดย “หัวหน้าทีมวิจัย AI” ของ Google และหนึ่งในผู้คิดค้น TensorFlow

กูเกิ้ล ลดพนักงาน 1.2 หมื่น แล้วดึงผู้ก่อตั้ง 2 คนกลับมาฉุกเฉิน เพื่อต่อกรกับ ChatGPT จากไมโครซอฟท์-โอเพ่นเอไอ

เคราะห์กระหน่ำ กูเกิ้ลถูกฟ้องผูกขาดโฆษณาอีก นอกจากสงครามเสิร์ชเอ็นจิ้นด้วย AI แล้ว ล่าสุดยังถูกฟ้องจากก.ยุติธรรมสหรัฐฯ