Book Summary: หนังสือ AI 2041 คลี่คลายข้อสงสัยว่า AI จะให้คุณให้โทษอะไรได้บ้างในอีก 20 ปีข้างหน้า

 

Book Summary: หนังสือ AI 2041

คลี่คลายข้อสงสัยว่า AI จะให้คุณให้โทษอะไรได้บ้างในอีก 20 ปีข้างหน้า

ผ่านนิยายวิทยาศาสตร์ 10 เรื่องที่อ่านสนุกครบทุกรส ตื่นเต้น ดราม่า โรแมนติก และระทึกขวัญ กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

หนังสือ AI กำลังภายในจีน ในภาคภาษาอังกฤษที่น่าอ่านกัน..ทั้งครอบครัว

 

หนังสือเล่มนี้ “เหมาะสำหรับทุกคน” ที่รักการอ่าน ไม่จำเพาะสำหรับคนสนใจเรื่อง AI อ่านสนุก เต็มไปด้วยจินตนาการที่เป็นจริงได้ในอีก 20 ข้างหน้า และบางฉากบางเรื่องก็เป็นจริงไปแล้ว

อยากแนะให้อ่าน..เพราะคุ้ม อ่านได้ทั้งครอบครัว..โดยเฉพาะลูกหลานก่อนวัยรุ่นที่กำลังเต็มไปด้วยจินตนาการ จะได้รับแรงบันดาลใจ อรรถรสของภาษา และ..ตื่นรู้ เตรียมรับผลกระทบจากเทคโนโลยีนี้ ทั้งเรื่องส่วนตัว การเรียน การงาน และวิถีชีวิตสังคม ทราบว่า มีฉบับภาษาไทยวางจำหน่ายแล้ว ..น่าจะยิ่งสนุก อ่านหยิบติดมือ ติดใจได้ง่ายกว่าฉบับภาษาอังกฤษ

AI 2041: Ten Visions for Our Future หรือ 10 วิสัยทัศน์สำหรับอนาคต เล่มนี้แต่งโดย หลี่ไคฟู (Lee Kai-fu, 李開復) ผู้แต่งชื่อดังจากหนังสือขายดี AI Superpowers แต่งร่วมกับ เฉินชิวฟาน (Chen Qiufan, 陳楸帆) นักประพันธ์หนังสือชื่อดังของจีนแนวไซไฟ-นวนิยายวิทยาศาสตร์

โครงสร้างหนังสือเล่มนี้ ประกอบด้วยเรื่องสั้นไซไฟ หลากรสรวม 10 เรื่อง มองไกลไปในอนาคต แต่ละเรื่อง จะเริ่มจากอารัมภบทสองสามประโยคของหลี่ไคฟู ตามด้วยเรื่องสั้นแนวไซไฟที่เฉินชิวฟานบรรเลงไว้หลายสิบหน้า ท้ายเรื่องก่อนจบ หลี่ไคฟู ค่อยมาสรุปว่านิยายที่เพิ่งได้อ่านไปนั้นประกอบด้วยเทคโนโลยีอะไรบ้าง แต่ละเทคโนโลยีมีผลกระทบแง่บวกและลบอย่างไร ถ้าเป็นผลลบจะป้องกันอย่างไร ..หรือป้องกันไม่ได้แล้วจะเป็นอย่างไร !

สำหรับเรื่องสั้นไซไฟของเฉินชิวฟาน เขียนไม่เหมือนใคร โครงสร้างการเขียนและวิธีเดินเรื่อง บางเรื่องก็คล้ายไอแซค อสิมอฟ บางเรื่องก็คล้าย “มิชชั่นอิมพอสซิเบิ้ล” ของบรูซ เกลเลอร์, คล้าย “เชอร์ล็อกโฮล์มส์” ของเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ + “แฟนธ่อมออฟดิโอเปร่า” ของเชกสเปียร์ เป็นต้น (เช่น เรื่องสั้นหมายเลขที่ 5 My Haunting Idol) อย่างไรก็ตาม ลีลาการเขียนกลับแฝงไปด้วยกลิ่นอาย ไดอะล็อก และคำพรรณาสร้างจินตภาพแนวนิยายจีนกำลังภายใน อ่านแล้วเห็นภาพซัดอาวุธแหวกอากาศ สะบัดหน้าจากไปไร้อาวรณ์ จับจ้องมองนางด้วยแววตายากหยั่ง พลางขมวดคิ้ว ฯลฯ ลีลากระบวนท่าการเขียนไม่ชัดว่าจะเป็นของสำนักไหน เนี่ยอูเซ็ง, กิมย้ง, โก้วเล้ง หรืออุงสุ่ยอัง แต่ที่แน่ชัดบางเรื่องเหมือนกระบวนท่านิยายจีน-วิทย์ยุคใหม่ของหวงอี้ ในเรื่อง “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” นับเป็นหนังสือ AI จีนกำลังภายใน ภาคภาษาอังกฤษที่ไม่คุ้นชิน อ่านสนุก…เป็นอรรถรสใหม่ที่หาอ่านไม่ได้..จากหนังสือ AI เล่มอื่น

โมเดลเศรษฐศาสตร์ยุคเก่าจะล้าสมัย ในบริบทของ AI ? อะไรคือ Singularity ?

 

ทั้ง 10 เรื่องสั้น สรุปให้ไว ไปให้กระชับ ได้ดังนี้

1. เรื่อง ช้างทอง (The Golden Elephant) ชื่อซูเปอร์แอพ AI ที่กำชะตาของผู้คนในยุคหน้า ล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลทุกอย่าง รวมทั้งดวงชะตาราศี คู่ครองและข้อมูลสุขภาพ ฉากนิยายวัยรุ่นหญิงชายคู่นี้ เกิดขึ้นที่เมืองมุมไบ อินเดีย ด้วยความหวังดีของผู้สร้างและเทรน AI ทำให้ AI ได้บ่มเพาะอคติเหยียดผิววรรณะและเลือกปฏิบัติไปโดยตั้งใจ และ/หรือ ไม่ได้ตั้งใจ กลายเป็นตัวกีดกันความรักของวัยรุ่นหญิงชายต่างวรรณะ แต่สุดท้าย AI จะขีดเส้นแบ่งวรรณะ กับความรักได้หรือไม่ ตอนจบมีปริศนาทิ้งไว้ให้คิดเองเหมือนเรื่องสั้นอเมริกันไดอะล็อก สไตล์เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์

2. เรื่อง เทพหลังหน้ากาก (Gods Behind the Masks) ท้องเรื่องเกิดขึ้นที่เมืองลากอส ไนจีเรีย เรื่องราวของผู้คนที่ต้องใส่หน้ากากเข้าหากัน เพื่ออำพราง AI ของรัฐและป้องกัน Deep Fake ปั่นแต่งหลักฐานเท็จที่น่าเชื่อถืออย่างยิ่งด้วย Generative Adversarial Networks (GANs) หรือการใช้โมเดล AI มากกว่า 2 ตัวสู้กันเองเพื่อปรับแต่งจูนภาพ/วิดีโอปลอมให้ใกล้เคียงกับภาพจริงมากที่สุด รวมทั้งเรื่อง AI Security ที่กำลังจะมาคุกคามมนุษย์ในมิติใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ง่ายๆ เหมือน Cyber Crime หรือ Computer Virus แบบปัจจุบัน(ซึ่งก็ป้องกันได้ยากยิ่งอยู่แล้ว)

3. เรื่อง นกกระจอกคู่ (Twin Sparrows) เรื่องราวของสองฝาแฝดกำพร้าในจีน ซึ่งมี AI เป็นคู่หูเพื่อนเล่น เป็นผู้ช่วย และครูผู้นำทางชีวิต ปรุงแต่งวิธีการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรม ปมทางจิต และศักยภาพของเด็กได้สูงสุด (personalized learning) ฉายให้เห็นถึงความก้าวหน้าเรื่องโมเดลภาษา (แบบเดียวกับ Generative Pre-trained Transformer 3 หรือ GPT-3) โลกการศึกษายุคใหม่ และการใช้ AI ในเชิงจิตวิทยา เพื่อแก้ปัญหาปมทางจิต และเพื่อ “แข่งขัน” พัฒนาบุคคลิกภาพเด็ก ซึ่งดูเหมือนว่า ยิ่งแข่งกันมากเท่าไร เด็กทั้งสองก็ยิ่งขัดแย้ง แตกต่างแบบแตกแยก และจมปลักกับโลกส่วนตัวที่มี AI ชี้นำ จนลืมไปว่าทั้งสองคน เป็นพี่น้องกัน

4. รักไร้สัมผัส (Contactless Love) ความสัมพันธ์ระยะไกลที่มาจากเกมออนไลน์ ระหว่างหญิงจีนและชายบราซิล ภายใต้บริบทโรคโควิดร้ายแรงที่กลายเป็นเรื่องปกติในวิถีชีวิต รัฐเข้ามากุมชะตาและสุขภาพของผู้คน หุ่นยนต์ตำรวจที่คอยมอนิเตอร์พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของประชาชน การถอดรหัสยีนและค้นพบวัคซีนใหม่โดยใช้ AI การปลูกถ่ายชิปบนผิวหนัง และชุดสวมใส่ห่อหุ้มร่างกายป้องกันโควิด ทำงานยิ่งกว่าเสื้อผ้าและล่วงรู้ทุกสัญญาณชีพ โดยทำงานร่วมกับ AI

5. ไอดอลสุดหลอน (My Haunting Idol) เรื่องราวในโตเกียวของหญิงสาวที่เป็น FC ของดาราไอดอล ที่สูญหายตายจากไปอย่างลึกลับ เขาต้องการค้นหาความจริงผ่านเทคโนโลยีเกมเสมือนจริง XR ที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีความจริงเสมือน (VR), ความจริงเสริม (AR), และความเป็นจริงผสม (MR) ทำให้ผู้คนยุคหน้า “เหมือนฝันทั้งๆ ที่กำลังลืมตา” โลกความจริงที่ถูกทาบทับไร้รอยต่อกับสภาพแวดล้อมจำลอง ทั้งเรื่องการโต้ตอบกับผีดารา การใช้สายตา คำพูด และส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ กลไกเสมือนที่เป็นจริง ที่ทำให้ผีสามารถเปิดประตูตู้เย็นในบ้านคุณได้อย่างไร้รอยต่อและไม่ใช่มายากล

นิยาม AI ที่หลี่ไคฟู เขียนไว้ได้กระชับ ชัดเจน และถูกใจผม

 

6. คนขับรถศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Driver) เด็กวัยรุ่นหาเงินให้ครอบครัว โดยรับจ้างทำงานขับรถซิ่งให้องค์กรลึกลับจีนที่สร้างเกมเสมือนจริง..แต่เจ็บจริง เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในโคลอมโบ ศรีลังกา สำรวจเกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนรถอัตโนมัติ จากระดับ L0 ถึง L5 (ขับแทนมนุษย์ได้สมบูรณ์แบบ จนแท็กซี่ตกงาน) แต่แล้ว ระบบ AI ก็ยังต้องพึ่งมนุษย์ เพราะทุกอัลกอริทึมมีขีดจำกัด ที่สำคัญ ไม่มีไหวพริบปฏิภาณ และสัญชาตญาณแบบมนุษย์ ทำให้คิดแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเบื้องหน้าไม่ได้ทั้งหมด สุดท้าย AI ก็ต้องการคน..นักขับผู้เชี่ยวชาญ ผู้สามารถรีโมท..กู้ภัย ขับรถจริงที่ติดอยู่ท่ามกลางภัยพิบัติธรรมชาติในอีกซีกโลกหนึ่งได้ ช่วยเหลือผู้คนได้

7. ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยควอนตัม (Quantum Genocide) โดยมียุโรปเป็นฉากหลังและมีนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่เก่งเรื่องคอมพิวเตอร์ควอนตัม แต่มีปมทางจิตที่ภรรยาและลูกเสียชีวิตในไฟป่า…หนึ่งในปัญหาโลกร้อนที่มาจากประชากรล้นโลก จึงวางแผนลดจำนวนประชากรโลกด้วยโดรนและแฮ็กระบบขีปนาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก เรื่องนี้แฮ็กเกอร์ชาวคาซัคสถาน กลายเป็นฮีโร่ ช่วยโลกรอดพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากโดรนจิ๋วสังหารและระเบิดนิวเคลียร์ได้สำเร็จ และเป็นอุทาหรณ์ว่าคอมพิวเตอร์ควอนตัมและอาวุธที่ใช้ AI จะเป็นภัยคุกคามต่อโลกในอนาคต และเป็นอันตรายต่อกลไกเข้ารหัสของ Bitcoin สกุลเงินบล็อกเชนนี้จะมีข้อจำกัดและความเสี่ยง…อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในอนาคตอันใกล้นี้

8. ผู้กอบกู้งาน (The Job Savior) ฉากในท้องเรื่องนี้เป็นซิลิคอนแวลลีย์ ผู้เขียนสำรวจด้านมืดของ AI ที่ทำให้เกิดการสูญเสียงานขนาดใหญ่ (Massive Replacement) แล้วรัฐบาลต่างๆ ต้องใช้มาตรการ UBI เพื่อจ่ายเงินเดือนขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนโดยเก็บภาษีจากคนรวยระดับ Ultra Rich มาแทน ในเรื่องมนุษย์ต้อง “สู้กลับ” ด้วย 3Rs: relearn, re-calibrate and renaissance (เรียนรู้ใหม่ ปรับใหม่ และฟื้นฟูวิทยา) การเรียนรู้ฟิลด์งานใหม่ในบริบทของ AI และฟื้นฟูศิลปวิทยาโดยเน้นงานและสิ่งที่มนุษย์ทำได้ดีที่สุด: ความคิดสร้างสรรค์ ความเห็นอกเห็นใจ และมนุษยธรรม (creativity, compassion and humanity) สามสิ่งนี้ จะทำให้มนุษย์ยังคงมีงานทำอยู่

9. เกาะแห่งความสุข (Isle of Happiness) เกาะเทียมในทะเลอาหรับเป็นฉากหลังที่ซึ่ง AI ถูกกำหนดค่าให้ช่วยเหลือผู้คนให้มีความสุข (ที่จริง ช่วยแค่มหาเศรษฐี) เรื่องสั้นนี้เกี่ยวพันเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล GDPR ระบบเรียนรู้ประชาชนของรัฐรวมศูนย์ และระบบ AI เพื่อสิ่งแวดล้อม คำถามทิ้งท้ายเรื่อง..ระบบดังกล่าวจะเก็บข้อมูลทั้งหมดได้อย่างไร จะคิดออกได้อย่างไรว่า ความสุขสำหรับแต่ละปัจเจกบุคคลคืออะไร ?

10. ฝันถึงความอุดมสมบูรณ์ (Dreaming of Plenitude) เรื่องราวที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย พูดถึงเรื่องโมเดลเศรษฐศาสตร์ยุคเก่าที่ใช้การไม่ได้กับบริบทของ AI คำว่าขาดแคลนคืออะไรในเมื่อพลังงานสะอาดมีเหลือเฟือ และทุกคนได้รับ Basic Life Card ซึ่งอนุญาตให้ทุกคนจับจ่ายสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตและความบันเทิงได้ นอกจากนี้ยังพูดถึงเรื่อง อนาคตของเงิน (Future of Money) และ Singularity ในบริบทของ Plenitude

ผมพยายามย่อเนื้อหาหนังสือให้สั้นที่สุดแล้ว และยังไม่ได้อธิบายในแต่ละเทคโนโลยีว่าให้คุณให้โทษอย่างไร แต่กลายเป็นว่าบทความนี้ก็ยังยาวหลายหน้า อ่านหลายนาที อย่างไรก็ดี หากได้อ่านหนังสือเล่มจริง เวลาจะผ่านไปไม่รู้ตัว สนุกสนาน เร้าใจและรื่นรมย์ ราวกับดูหนังซีรีส์เกาหลีบน Netflix

 

ท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณ ศาสตรจารย์ด็อกเตอร์ปิติ แห่งพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่มอบหนังสือเล่มนี้ไว้ให้ และอย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น เล่มนี้ อ่านสนุก อรรถรสการเขียนไม่ซ้ำใคร คุ้มค่าที่จะอ่านกัน..ทั้งครอบครัว

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สรุปหนังสือ AI and Machine Learning for Coders แต่งโดย “หัวหน้าทีมวิจัย AI” ของ Google และหนึ่งในผู้คิดค้น TensorFlow

กูเกิ้ล ลดพนักงาน 1.2 หมื่น แล้วดึงผู้ก่อตั้ง 2 คนกลับมาฉุกเฉิน เพื่อต่อกรกับ ChatGPT จากไมโครซอฟท์-โอเพ่นเอไอ

เคราะห์กระหน่ำ กูเกิ้ลถูกฟ้องผูกขาดโฆษณาอีก นอกจากสงครามเสิร์ชเอ็นจิ้นด้วย AI แล้ว ล่าสุดยังถูกฟ้องจากก.ยุติธรรมสหรัฐฯ