LUNA-UST จุดจบของคน…เชื่อ “อัลกอริทึม” มากเกินไป

LUNA-UST จุดจบของคน…เชื่อ “อัลกอริทึม” มากเกินไป

หลายคนกลายเป็นเหยื่ออัลกอริทึม มั่นใจล้น หลงเชื่อโด ควอน เชียร์ “อัลกอริทึมมหัศจรรย์” (seigniorage algorithmic) โดยไม่รู้ว่า ทุกอัลกอริทึมมี “เงื่อนไขและข้อจำกัด”

เครดิต — drwealth.com

 

ที่ผ่านมา บทวิเคราะห์การล่มสลาย LUNA-UST เกือบทุกสำนักล้วนให้เหตุผลว่า ถูกเฮดจ์ฟันด์นิรนามกลุ่มหนึ่งโจมตีค่าเงิน เหมือนครั้งค่าเงินบาทถูกโจมตี ทำให้กลไกสมดุลปริมาณเงิน UST กับ LUNA ล่มสลาย

สำหรับบทความนี้ จะวิเคราะห์อีกมุมหนึ่ง..ข้อจำกัดของอัลกอริทึม ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนไม่ได้มอง

การล่มสลายของ LUNA-UST เป็นหายนะ “ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา” ของวงการคริปโต มูลค่าเสียหายเกือบ 50 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าของ FTX 6.25 เท่า ซึ่งเสียหายประมาณ 8 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน รีบออกมาซ้ำเติมว่า คริปโตคือของปลอม ไซฟ่อนและการหลอกลวง แต่..ลืมดูไปว่า เงินที่อาจจะฉ้อฉลหลอกได้มากกว่า เพราะไร้การตรวจสอบการค้ำประกัน (proof of reserve) อย่างเช่น เงินกระดาษดอลลาร์และเงินกระดาษประเทศชั้นนำอื่นๆ (ซึ่งแก๊งยาเสพติดและก่อการร้ายข้ามนิยมใช้) เงินกระดาษเหล่านี้ ไม่มีหน่วยงานเป็นกลางที่ไหนกล้าตรวจสอบยืนยันได้ว่าประเทศเหล่านั้น ใช้ทองคำและสินทรัพย์ประเภทใดค้ำประกัน มากน้อย จริงเท็จแค่ไหน

ผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้ ซึ่งรวมทั้งนายวอร์เรน บัฟเฟตต์และบิลล์ เกตส์ ลืมดูไปว่า..การล่มสลายของบริษัทชนิด non-crypto อย่างบริษัทเอ็นรอน สร้างความเสียหายย่อยยับ 74 พันล้านดอลลาร์ (อ้างอิง Investopedia.com) และสร้างผลกระทบลูกโซ่ ล้มเป็นโดมิโนต่อเนื่องรุนแรงแค่ไหนต่อระบบเศรษฐกิจโลกและอเมริกา ซึ่งมากกว่าการล่มสลายของ LUNA-UST ยิ่งนัก

 

“Blind commitment to a theory is not an intellectual virtue: it is an intellectual crime.”

 

การตาบอดยึดมั่นในทฤษฎี ไม่ใช่คุณธรรมทางปัญญา แต่เป็นอาชญากรรมทางปัญญา อิมเรอ ลาคาตอส (Imre Lakatos) นักปรัชญาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชาวฮังการีเคยกล่าวไว้

เพราะทฤษฎี (Theorem) ใดๆ ไม่ใช่ความจริงสมบูรณ์ (absolute truth) แต่เป็นความจริงแค่บางส่วนและบางเงื่อนไข กระทั่งกฎ (law) และสัจพจน์ (axiom) ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าทฤษฎี (theorem) ก็ยังเป็นแค่ความจริงเฉพาะบางเงื่อนไข เช่น กฎฟิสิกส์ของนิวตัน ซึ่งใช้ไม่ได้ในเงื่อนไขของอนุภาคควอนตัม สูตรคณิตศาสตร์ต่างๆ จึงต้องมีเงื่อนไขกำกับตอนท้ายเสมอว่า จะเป็นจริงได้ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง เช่น ห้ามตัวหารมีค่าเป็นศูนย์ เป็นต้น

ทฤษฎี Stablecoin Trilemma ซึ่งเป็นที่มาของ algorithmic ของ Terra ทฤษฎีนี้ คาดว่าดัดแปลงมาจาก Impossible Trinity ในวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคด้านการเงิน, ผู้เสนอโมเดลนี้คือ John Marcus Fleming และ Robert Alexander Mundell ระหว่างปี 1960–1963 เครดิตภาพ: จากเว็บ cointelegraph.com

 

ดังนั้น ทฤษฎี “สามเสาหลักที่เลือกได้แค่สอง” Stablecoin Trilemma และ ทฤษฎีการเพิ่ม-ลด money supply โดยใช้อัลกอริทึม เพื่อควบคุมปริมาณเงินคล้ายกลไกธนาคารกลาง ในการพิมพ์เงินเพิ่มและลดเงินในระบบ ..จึงมีข้อจำกัด

และยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้นไปอีก เมื่อ Terra (LUNA) ใช้ กลไก “เงินคู่” (two-coin: LUNA และ UST) และกำไรส่วนต่างจากหน้าเหรียญ (seigniorage) เพื่อสร้างเสถียรภาพระบบและสร้างแรงจูงใจในร่วมเป็นเครือข่าย Terra (การทำเหมืองขุดเหรียญ LUNA)

ไวท์เปเปอร์ของ Terra Money ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่เมษายน 2019
หลักการทำงานของ Terra ขึ้นอยู่กับกลไก supply และ demand อ้างอิง https://whitepaper.io/document/587/terra-whitepaper)

 

คุณสมบัติที่สำคัญอัลกอริทึมแบบ Seigniorage Stablecoin คือ

 

(1) การเพิ่ม-ลดปริมาณเงินคู่ ทำบนบนระบบคอมพิวเตอร์เครือข่าย Terra โดยตรง หรือ on-chain adjustment

(2) ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันในการสร้างเหรียญ

(3) มูลค่าถูกควบคุมโดยอุปสงค์และอุปทาน (demand-supply model) ผ่านอัลกอริทึม ทำให้ราคาเหรียญ UST (TerraUSD) คงที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรึงค่าเงิน 1:1 กับดอลลาร์สหรัฐ

 

ที่จริง เหรียญแรกที่ใช้อัลกอริทึม Seigniorage Stablecoin เป็นรายแรก คือ Frax Finance (FRAX) โดยเคลมว่าเริ่มใช้กลไกเงินคู่-ไร้สินทรัพย์ค้ำประกันก่อนหน้า Terra เพียงไม่กี่เดือน

นอกจากนี้ ยังมีเหรียญคริปโตอื่นๆ อีกที่ใช้กลไก “อัลกอริทึมต่างชนิด” เพื่อสร้าง stablecoin ได้แก่ Dai (DAI), Magic Internet Money (MIM), Neutrino USD (USDN) และที่กำลังมาแรงก็คือ USDD ของเครือข่าย Tron ของนาย Justin Sun (ว่าที่..โด ควอน คนที่สอง ?)

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทุกเหรียญ ได้เปลี่ยนจากระบบเงินคู่-ไร้สินทรัพย์ค้ำประกัน ไปอัลกอริทึมหลากเหรียญและมีสินทรัพย์ชนิด “ค่าคงที่” ค้ำประกัน แทนที่จะใช้เหรียญเสกของตนเองอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น Tron เพิ่งเปลี่ยนมาใช้ USDT, USDC, BTC และเหรียญเสกของตนเอง TRX เป็นตัวค้ำประกัน โดยเพิ่งเปลี่ยนสูตรตรึงเงินเมื่อธันวาคม 2565 ที่ผ่านมานี้เอง

USDD เพิ่งเปลี่ยนสูตรค่าเงิน เมื่อเดือนธันวาคม 2565 โดยตรึงไว้กับสินทรัพย์ที่หลากหลาย รวมทั้งสินทรัพย์ที่มีค่าเกือบคงที่อย่าง USDT และ USDC

ที่จริง ตอนท้ายยุค Terra (LUNA) ก็เปลี่ยนจากสูตรเงินคู่ มาเป็นเงินผสม โดยมี BTC หรือบิตคอยน์เป็นสินทรัพย์ “ค่าไม่คงที่” มาร่วมค้ำประกันด้วย ..ทำให้ทฤษฎีสามเลือกได้แค่สอง..Impossible Trinity หรือ Trilemma

กลายเป็น “สามเลือกสาม ก็ได้” กล่าวคือ เป็นทั้งอัลกอริทึม (algorithmic), เป็นทั้ง centralized (ควบคุมจากส่วนกลางกลุ่มหนึ่ง) และเป็น over-collateralized (มีสินทรัพย์ค้ำประกัน) ..เป็นเหมือนระบบไฮบริดระหว่างเหรียญ Tether ผสมกับ DAI และผสมธนาคารกลาง

โศกนาฎกรรมวงการคริปโตเริ่มขึ้น…เมื่อราคาบิตคอยน์และเหรียญคริปโตต่างๆ ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ (เช่นเดียวกับราคาหุ้นกลุ่มเทคฯ ใน Nasdaq) มูลค่าหายไปมากกว่า 70% ด้วยปัจจัยลบต่างๆ ที่ถาโถมไม่หยุดหย่อนนับจากเดือนมีนาคมปี 64 …ทำให้กลไก demand-supply ซึ่งเป็นเสาหลักทฤษฎีของ Terra (LUNA) ..มีข้อจำกัดรุนแรง

และแม้ว่าโด ควอนและคณะฯ จะพยายามแก้ไข โดยเปลี่ยนสูตรเงินคู่ เป็นเงินคู่ผสม BTC ด้วยเชื่อว่าราคา BTC จะเกิดกระแสพลิกพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วหลัง Terra ประกาศซื้อและตุนไว้จำนวนมาก แต่เหรียญ BTC กลับตกไม่หยุด

พอถึงพฤษภาคม 2565 เมื่อ UST ถูกโจมตีอย่างรุนแรงโดยผู้เห็นจุดอ่อนของอัลกอริทึม..เมื่อมีแต่ supply แต่ไร้ demand

ทำให้การโจมตีค่าเงินได้ผล ซึ่งแม้โด ควอนกับทีมจะยอมเฉือนเนื้อขาย BTC ขาดทุนเพื่อพยุงค่า UST ให้ตรึงค่า 1:1 กับดอลลาร์ให้ได้ แต่แรง panic sell กลับเข้ามาร่วมสมทบ กลายเป็นจุดเขื่อนแตก

ค่าเงิน UST ดิ่งลงเหลือ 10 เซนต์ ขณะที่ LUNA ที่เคยมีมูลค่าสูงเกือบ 120 ดอลลาร์ หล่นเหลือ “เกือบศูนย์” ทำให้มูลค่าเครือข่าย Terra กับพันธมิตรมูลค่ากว่า 50 พันล้านดอลลาร์ ล่มสลายภายในสัปดาห์เดียว !

 

 

เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า

(1) ทุกทฤษฎี..เกิดขึ้นโดยมี “เงื่อนไข” กำกับเสมอ อัลกอริทึมที่ปรุงมาจากทฤษฎีก็เช่นกัน ซึ่งใน white paper ของโด ควอนไม่ได้เขียนเงื่อนไขและข้อจำกัดอัลกอริทึมของตนเองกำกับไว้เลย

เงื่อนไขของ algorithmic stablecoin ก็คือ ต้องมี demand และต้องเติบโตต่อเนื่อง ส่วน supply ผลิตเพิ่มได้ไม่จำกัด ถ้าไม่มีอุปสงค์ มีแต่อุปทาน กลไกนี้ก็พร้อมพังทันที เช่น มีอุปสงค์หรือ supply ของ iPhone 4 เต็มไปหมด แต่ไม่มีใครอยากซื้อใช้แล้ว (ให้ฟรีก็ยังคิดดูก่อน) กลไกแบบนี้ก็พร้อมพัง

(2) ไม่มีอัลกอริทึมไหนฉลาดเกินคน เพราะคนสร้างอัลกอริทึม คนเห็นโอกาสและคิดนอกกรอบได้เก่งกว่า ดีกว่า AI

(3) อัลกอริทึมที่ตรึงค่าเงินด้วยสินทรัพย์ที่ไม่มั่นคง ย่อมไม่คงที่ และไม่มั่นคง แม้ว่าหลายคนจะอวยกันว่า algorithmic นี้เก่งจีเนียสระดับสแตนฟอร์ด ทำให้ค่าเงินคงที่ได้ และมีข้อดีในเรื่อง capital efficiency..ตามทฤษฎี Stablecoin Trilemma แต่ในที่สุดก็พิสูจน์แล้วว่า สามเลือกสองไม่ได้ กลายเป็นเลือกสาม

ดังนั้น ทฤษฎีนี้ Stablecoin Trilemma นี้จึง “ไม่จริง” ..ใช้ไม่ได้

จากนี้ไป โลกคริปโตคงเข้าสู่ยุค proof of reserve และ government-regulated มากขึ้น เหรียญเสกชนิดใดที่ยังอิงแค่ “กระดาษขาว” กับ “อัลกอริทึม” ย่อมมีข้อจำกัดและอันตราย ไม่ควรเสี่ยงลงทุน แม้จะมีราคาพุ่ง..จากแรงกระตุ้นยั่วเย้าเหล่ายูทูบเบอร์และกลุ่มเจ้ามือก็ตาม

 

*********

ติดตามบทความ AI.Neuro.Pal ได้ที่

Facebook: www.facebook.com/ai.neuro.pal

Twitter: https://twitter.com/AiNuero

Blogger: https://aineuro9.blogspot.com

Medium: https://medium.com/@AiNeuroPal

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สรุปหนังสือ AI and Machine Learning for Coders แต่งโดย “หัวหน้าทีมวิจัย AI” ของ Google และหนึ่งในผู้คิดค้น TensorFlow

กูเกิ้ล ลดพนักงาน 1.2 หมื่น แล้วดึงผู้ก่อตั้ง 2 คนกลับมาฉุกเฉิน เพื่อต่อกรกับ ChatGPT จากไมโครซอฟท์-โอเพ่นเอไอ

เคราะห์กระหน่ำ กูเกิ้ลถูกฟ้องผูกขาดโฆษณาอีก นอกจากสงครามเสิร์ชเอ็นจิ้นด้วย AI แล้ว ล่าสุดยังถูกฟ้องจากก.ยุติธรรมสหรัฐฯ