ถ้าไมโครซอฟท์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ OpenAI, Bing จะเก่งกว่า Google Search หรือไม่?

ถ้าไมโครซอฟท์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ OpenAI

Bing จะเก่งกว่า Google Search หรือไม่?

 


ข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ไมโครซอฟท์วางแผนที่จะลงทุน 10 พันล้านดอลลาร์ใน OpenAI โดยไมโครซอฟท์จะได้รับส่วนแบ่ง 75% จากกำไรของ OpenAI จนกว่าจะได้รับเงินคืนจากการลงทุน

หลังจากนั้นบริษัทจะรับส่วนแบ่ง 49% ใน OpenAI หรือ ถือหุ้น 49% กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทันที ถ้าไมโครซอฟท์เอา AI ตัวเก่งของ OpenAI มาใช้กับ Bing แล้วจะเก่งกว่า Google Search หรือไม่ ?

เว็บค้นหา Bing.com เริ่มต้นในปี 2006 ในชื่อ Windows Live Search ก่อนที่จะมีการรีแบรนด์ใหม่ในปี 2009 เป็น Bing ในขั้นต้น Windows Live Search เปิดตัวเพื่อแข่งขันกับ Google Search ซึ่งเปิดตัวไปตั้งแต่ปี 1998

จุดแข็งที่โดดเด่นของ Bing ที่เหนือกว่า Google Search ก็คือ ค้นหาภาพและวิดีโอได้ดีกว่า ค้นพบแล้วก็เล่นวิดีโอได้เลยโดยไม่ต้องออกจาก Bing เป็นต้น จุดแข็งจุดได้เปรียบอีกประการคือ มาพร้อมกับ Windows ทำให้ส่วนแบ่งตลาดเว็บค้นหาของ Bing เพิ่มขึ้นจาก 3.99% เป็น 8.95% เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา (อ้างอิงจาก Statista 2023) ส่วน Google Search ส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 91-92% เหลือ 83.84% แต่ก็ยังทิ้งห่างจาก Bing เกือบ 10 เท่าตัว

 

ส่วนแบ่งตลาดเว็บค้นหาปี 2022 อ้างอิง: Statista 2023

ถ้าไมโครซอฟท์ผนวกเอ็นจิน AI ระดับเทพจากบริษัท OpenAI เข้าไป เช่น ChatGPT แล้วเว็บค้นหานี้ จะชนะหรือไม่ ? ให้ลองวิเคราะห์จาก 5 ปัจจัยตัวชี้วัดจากประสบการณ์ยูสเซอร์และความอยู่รอดทางธุรกิจ ดังนี้

 

1.  ไม่ใช่แค่ “คำตอบ” แต่เป็น “โซลูชั่นพร้อมใช้” หรือไม่ ?

ถ้าเป็น Google Search จะได้คำตอบเป็นแค่ “รายชื่อเว็บที่สอดคล้องกับคำค้นหา” เป็นคำตอบชนิด “ชี้เป้า แล้วเลือกใช้เอง” ไม่ใช่ “โซลูชั่นพร้อมใช้” แบบ ChatGPT ซึ่งนอกจากจะหาคำตอบให้แล้ว ยังเรียบเรียงเนื้อหาเป็น บทความ เขียนโค้ด หรือแต่งเพลงให้ด้วยเลย ทำให้ผู้ใช้ชื่นชอบมาก ง่าย รวดเร็ว และบางครั้งได้คำตอบที่ดีกว่าค้นหาทำเอง เรื่องนี้เดือดร้อนไปถึงโรงเรียนหลายแห่งในอังกฤษ ซึ่งประกาศแบน ChatGPT ไปแล้ว ด้วยกลัวว่านักเรียนจะโกงทำการบ้านและข้อสอบด้วย ChatGPT แต่ปัญหานี้ OpenAI กำลังแก้ไขให้โดยพัฒนา metadata ที่เป็น “ลายน้ำ” (watermark) เพื่อช่วยบ่งชี้ว่าการบ้านนั้นมาจาก ChatGPT หรือไม่ (อ้างอิง เว็บ theguardian.com - https://bit.ly/3QIi5BQ)

ประเด็นที่ต้องคิดต่อและระวัง ก็คือ คำตอบที่ได้นั้น “ถูกต้อง” หรือไม่ พบว่า ChatGPT ยังให้คำตอบที่ผิดพลาด และไม่คงที่ ถามต่างคีย์เวิร์ด ต่างเวลา อาจจะได้คำตอบที่สุ่มได้ไม่เหมือนกัน เช่น ให้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชาติสยาม กับประวัติศาสตร์ชาติไทย อาจจะได้บทความคนละเรื่อง บางครั้งก็เหมือนเป็นนิยายมากกว่าข้อเท็จจริง ขณะที่กูเกิ้ลไม่ช่วยแต่งคำตอบให้ แค่ชี้เป้าเว็บไซต์ ไม่ฟันธงให้เหมือน ChatGPT

2. Speed: ความเร็วตอบสนองผู้ใช้ ใครเร็วกว่า ?

ทั้งฮาร์ดแวร์ เน็ตเวิร์ก และอัลกอริทึม ดูเหมือนกูเกิ้ลจะเหนือกว่า กูเกิ้ลสามารถค้นหาแล้วนำผลลัพธ์กลับมา นับล้านภายในเวลา 0.19 วินาที แสดงว่าอินฟราสตักเจอร์ทางเทคนิคดีมาก มีครั้งหนึ่ง กูเกิ้ลเคยเกิดไฟไหม้ที่เดต้าเซนเตอร์แห่งหนึ่ง ซึ่งไหม้ทำลายฮาร์ดแวร์ทุกอย่าง แต่บริการก็ไม่ล่ม ไม่กระทบทั้งในเชิงคุณภาพและความเร็ว ถ้า Bing ใช้ AI แล้วเร็วกว่า ตอบสนองผู้ใช้ดีกว่า เกมเปลี่ยนแน่นอน

3. Relevancy: ตรงใจและสอดคล้องกับผู้ใช้ได้ดีแค่ไหน ?

เพื่อให้สอดคล้องตรงใจผู้ใช้มากที่สุด กูเกิ้ลจึงอัพเดทอัลกอริทึมบ่อยมาก จากอัลกอริทึมเดิมที่ชื่อว่า Caffeine ต่อมาเปลี่ยนเป็น Hummingbird ส่วนคำไหนที่หาแล้วไม่เจอ ก็จะใช้เอ็นจิน AI ที่ชื่อว่า RankBrain เพื่อร่วมด้วยช่วยค้นหาให้แทน อัลกอริทึม Hummingbird ยังคงทำงานร่วมกับอัลกอริทึมเก่าอยู่บ้างที่ชื่อว่า Panda และ Penguin แต่งานค้นหาส่วนใหญ่เกือบ 90% จะใช้ Hummingbird เพื่อพิจารณาว่าผู้ใช้สนใจอะไร ต้องการช็อปปิ้งอะไร แล้วหาเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาตรงใจและสอดคล้องกับผู้ใช้ให้มากที่สุด นอกจากอัพเดทอัลกอริทึมบ่อยแล้ว ยังอัพเดทการจัดอันดับเว็บไซต์ (web ranking) บ่อยมาก แทบทุกนาที ทำให้เท่าทันบริบทและกระแสสังคม เช่น ทันทีที่มีข่าวนักมวยแชมป์โลกเสียชีวิต กูเกิ้ลก็อัพเดทอันดับเว็บและดัชนีได้แทบจะทันที ขณะที่ Bing นับตั้งแต่อัพเดทอัลกอริทึมครั้งใหญ่ที่เรียกว่า "Tiger" ก็แทบไม่ได้อัพเดทอะไรเลย นอกจากหน้าตาเว็บและอินเทอร์เฟซ ดังนั้น หากไมโครซอฟท์ได้เอ็นจิน AI ตัวเก่งจาก OpenAI แต่ไม่ค่อยอัพเดททั้งอัลกอริทึมและเดต้า ความเก่งของ OpenAI ก็จะล้าสมัยอย่างรวดเร็ว ประสบการณ์ผู้ใช้ก็จะเสียไป แล้วปฏิเสธการใช้ Bing

4. Branding: ทำให้แบรนด์ติดตลาดแล้วทุกคนนึกถึงเวลาอยากจะใช้ เรื่องนี้กูเกิ้ลดูเหมือนจะได้เปรียบ เพราะทำทุกโปรดักต์ภายใต้ชื่อเดียวกัน แถมยังเชื่อมโยงถึงกันหมด (กว่า 50 โปรดักต์ที่เชื่อมโยงกับ Google Search) และแต่ละโปรดักต์ก็เสริมกันเอง เช่น Google Maps ซึ่งทันสมัยกว่า และสอดคล้องกับผู้ใช้แต่ละท้องถิ่นมากกว่า ในขณะที่ Map ของไมโครซอฟท์ อาจต้องใช้เวลาพัฒนาอีกระยะหนึ่งกว่าจะทันหรือชนะกูเกิ้ลได้

5. Business Model: หากไม่มีรายได้ กำลังใจและงบลงทุนก็จะหมดอย่างรวดเร็ว OpenAI ก็จะไม่มีเงินทุนต่อยอดงานวิจัยในอนาคต ดังนั้น รายได้และกำไรคือหัวใจของทุกสิ่งอย่าง Bing ต้องสร้างเครื่องมือ SEO ที่เก่ง ครอบคลุม ได้ผลดีกว่าและประหยัดกว่า ต้องมีเครื่องมือช่วยคนลงโฆษณาและกระตุ้นขายโฆษณาที่ดีกว่า ผู้คนจึงจะยอมจ่ายค่าโฆษณาให้ ถ้ามี AI เก่ง แต่หาเงินไม่เก่ง เกมนี้ก็อาจจะจบไว เหมือนโปรดักต์เก่าๆ ของไมโครซอฟท์ที่ล้มเหลวไปแล้ว ไม่ว่าจะ Internet Explorer, Vista, Windows 8, Zune, MSN เป็นต้น

หากไมโครซอฟท์กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ OpenAI แล้วผนวกรวม ChatGPT หรือ GPT-3.5 เข้ากับโปรดักต์ต่างๆ ได้ดีเยี่ยม แล้วยูสเซอร์ชื่นชอบ สิ่งนี้จะกระเทือนรายได้กูเกิ้ลอย่างรุนแรง กูเกิ้ลมีรายได้จากเสิร์ชเอ็นจินราว 150 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หรือคิดเป็นเกือบ 60% ของรายได้ทั้งหมดบริษัท หากเงินก้อนนี้หายไป กูเกิ้ลผู้คงกระพัน ก็อาจจะเกมได้เช่นกัน

ทุกการแข่งขัน..ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค การที่กูเกิ้ลครองแชมป์ Search Engine มายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ทำให้เทคโนโลยีเสิร์ชเอ็นจิ้น ดูเหมือนจะหยุดนิ่งไปนาน ตัวอย่างเช่น ระบบ AI ที่ชื่อว่า RankBrain ของกูเกิ้ล แทบจะหยุดพัฒนาไปตั้งแตปี 2015 หรือกว่า 8 ปีมาแล้ว !!

ไม่ว่าข่าวการซื้อหุ้น OpenAI ของไมโครซอฟท์ จะเป็นจริงเท็จแค่ไหน ซื้อหุ้นมากน้อยอย่างไร 

แต่ที่แน่ๆ ศึกช้างชนช้าง..แข่งขันกันพัฒนา AI และเสิร์ชเอ็นจิ้น..ได้เริ่มแล้ว 

 

*********

ติดตามบทความ AI.Neuro.Pal ได้ที่

Facebook: www.facebook.com/ai.neuro.pal

Twitter: https://twitter.com/AiNuero

Blogger: https://aineuro9.blogspot.com

Medium: https://medium.com/@AiNeuroPal

 

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สรุปหนังสือ AI and Machine Learning for Coders แต่งโดย “หัวหน้าทีมวิจัย AI” ของ Google และหนึ่งในผู้คิดค้น TensorFlow

กูเกิ้ล ลดพนักงาน 1.2 หมื่น แล้วดึงผู้ก่อตั้ง 2 คนกลับมาฉุกเฉิน เพื่อต่อกรกับ ChatGPT จากไมโครซอฟท์-โอเพ่นเอไอ

เคราะห์กระหน่ำ กูเกิ้ลถูกฟ้องผูกขาดโฆษณาอีก นอกจากสงครามเสิร์ชเอ็นจิ้นด้วย AI แล้ว ล่าสุดยังถูกฟ้องจากก.ยุติธรรมสหรัฐฯ